โครงการขยายผลธนาคารปูม้าพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์

ปูม้า (Blue swimming crab; Portunus pelagicus) เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ผลการประเมินทรัพยากรปูม้าในอ่าวไทย พบว่ามีการจับปูม้ามาใช้ประโยชน์มากเกินกําลังการผลิตตามธรรมชาติ รวมทั้งมีการจับแม่ปูไข่นอกกระดองมาบริโภค ส่งผลทรัพยากรปูม้าในทะเลลดน้อยลง ในขณะที่ความต้องการบริโภคปูม้าเพิ่มมากขึ้น

จากปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรปูม้า ทำให้เกิดแนวคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรปูม้า โดยการทำกิจกรรม “ธนาคารปูม้า” ของชุมชนชาวประมงชายฝั่ง ซึ่งธนาคารปูม้าหลายแห่งดำเนินการได้ประสบความสำเร็จ และเป็นต้นแบบที่ดีในการขยายผลกิจกรรมธนาคารปูม้าไปสู่ชุมชนชาวประมงชายฝั่งในพื้นที่อื่น ๆ

คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเรื่องการขยายผลธนาคารปูม้า เพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” เมื่อวันที่ 6 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 โดยเห็นชอบการขยายผลธนาคารปูม้า เพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ไปสู่ชุมชนชายฝั่งจำนวน 500 ชุมชน ในระยะเวลา 2 ปี โดยให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติเป็นหน่วยงานบูรณาการหลัก ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยการนำผลงานวิจัยที่มีองค์ความรู้เดิมมาต่อยอด เพื่อเพิ่มอัตราการรอดของลูกปูม้าก่อนปล่อยคืนสู่ทะเล และขยายผลธนาคารปูม้าที่มีอยู่และประสบความสำเร็จไปสู่ชุมชนอื่น ๆ อย่างเหมาะสมกับบริบทพื้นที่และสภาวะชุมชน

คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ ดำเนินโครงการ “การขยายผลธนาคารปูม้าในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันตกในเขตจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน” โดยได้รับสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติในการจัดตั้งและฟื้นฟูธนาคารปูม้าในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้เกิดธนาคารปูม้าในชุมชนชาวประมงชายฝั่งครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ไปจนถึงเขตอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ 2 จังหวัด รวมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้ของเยาวชน ประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว ให้ตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรปูม้า เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน